เสียงสำนักพิมพ์ - สัมภาษณ์ผู้บริหารไฟแรงจาก "สำนักพิมพ์คำต่อคำ" - WriteNow Mag(old)

Pinterest

test banner

Post Top Ad

Responsive Ads Here

เสียงสำนักพิมพ์ - สัมภาษณ์ผู้บริหารไฟแรงจาก "สำนักพิมพ์คำต่อคำ"

Share This
มีใครบ้างไม่รู้จักสำนักพิมพ์คำต่อคำ...สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่กำลังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าสำหรับนักอ่านนั้น...พอถึงงานหนังสือทีไร ต่างก็เฝ้าจับตามอง เตรียมกระดาษปากกาจดลิสต์หนังสือที่สำนักพิมพ์แห่งนี้จะผลิตออกมาในงานนั้นๆ เช่นเดียวกับนักเขียนที่ต่างก็ปรารถนาจะได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แห่งนี้สักครั้ง...หรือหลายๆ ครั้ง


วันนี้เราพาคุณมาพบกับผู้บริหารไฟแรงของสำนักพิมพ์คำต่อคำ คุณประวิทย์ สุวณิชย์ ค่ะ

ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ในเครือกี่แห่ง ชื่ออะไรบ้าง
มีสามสำนักพิมพ์ครับ คือ คำต่อคำ, ที่รัก, ไฮยาซินธ์


ในการพิจารณามีอะไรบ้าง นักเขียนจะส่งต้นฉบับให้พิจารณาได้อย่างไรบ้าง
คำต่อคำ – รับต้นฉบับนิยายรักแนวไม่จำกัดแนว แต่นิยายส่วนใหญ่ของสำนักพิมพ์เป็นแนวโรแมนติก, คอเมดี้

ที่รัก – รับต้นฉบับนิยายรักที่ใช้ฉากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ไฮยาซินธ์ – รับต้นฉบับนิยาย LGBT ตัวละครหลักในต้นฉบับนิยายนั้นๆ ต้องไม่ใช่คู่ชายหญิง แต่เป็นคู่ชายชาย หญิงหญิง เลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือชายหญิงข้ามเพศก็ได้


หลักเกณฑ์และช่องทางการส่งต้นฉบับ ดูรายละเอียดได้ที่เพจของสำนักพิมพ์ครับ คือ www.facebook.com/wordforwordbooks และ www.facebook.com/TeerukPress

ความยาวต้นฉบับที่ต้องการอยู่ที่ 200 หน้าเอสี่ แต่สั้นหรือยาวกว่านั้นก็รับพิจารณาครับ



ต้นฉบับที่ผิดพลาดและเจอบ่อยที่สุดคือต้นฉบับแบบไหน เพื่อให้นักเขียนระมัดระวังการเขียนแนวนี้หรือคำชี้แนะอื่นๆ ที่ควรทำและไม่ควรทำ อย่างเช่น เลิฟซีนมีได้หรือไม่ มีมากแค่ไหน ความสมเหตุสมผล น้ำหนักความรักในเรื่อง ฯลฯ
ผู้เขียนควรตรวจสอบย่อหน้า วรรคตอน ตัวสะกดของต้นฉบับให้เรียบร้อยก่อนส่งมาให้สำนักพิมพ์พิจารณาครับ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบเบื้องต้นของนักเขียน บางเรื่องย่อหน้ายาวมาก ตัวสะกดผิดมาก ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นต้นฉบับที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้พิจารณาต้นฉบับอาจรู้สึกติดลบตั้งแต่เริ่มต้น

ทุกอย่างในเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง ต้องตรวจสอบก่อนเสมอ จะใช้เพียงความทรงจำไม่ได้ เช่น วรรคทองในวรรณคดี เนื้อเพลง ชื่อศิลปิน ที่ยกมาไว้ในเรื่อง มักผิดพลาดกันบ่อยๆ โดยเฉพาะนิยายพีเรียดนั้นต้องพึงระวัง เพราะอาจพลาดแบบไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ บรรณาธิการจะช่วยตรวจกรองให้อีกชั้นหนึ่งก่อนผลงานตีพิมพ์เผยแพร่

นอกจากเรื่อง ‘ข้อเท็จจริง’ แล้ว ก็อยากให้นักเขียนใส่ใจเรื่อง ‘ความสมจริง’ ด้วยครับ แน่นอนว่าเรื่องราวในนิยายล้วนเป็นเรื่องสมมุติ แต่เรื่องสมมุติก็ต้องสมจริงด้วย คนอ่านจึงจะคล้อยตาม

ในส่วนของบทเลิฟซีน มีได้ตามอารมณ์ของเรื่อง ตามความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่จะพาไปถึงจุดนั้น แต่ต้องไม่มากเกินพอดี ขอแนะนำสั้นๆ ว่าควรให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้สึก’ มากกว่า ‘ท่วงท่า’ ครับ



จำเป็นต้องเป็นนิยายรักเสมอไปไหม นิยายที่สนพ.รับพิจารณามีกี่อย่าง เป็นแนวไหนบ้าง
ต้นฉบับที่เรารับพิมพ์เป็นนิยายรักเท่านั้น ไม่ว่าจะแนวแฟนตาซี โรมานซ์ ดราม่า คอเมดี้ สืบสวนสอบสวน ...ทุกเรื่องต้องยืนอยู่บนฐานความเป็นนิยายรักครับ

สำนักพิมพ์เลือกต้นฉบับที่น่าสนใจก่อน หรือ นักเขียนที่น่าสนใจเป็นที่รู้จักก่อน
นักเขียนที่น่าสนใจ มักจะมาพร้อมกับต้นฉบับที่น่าสนใจครับ ดังนั้นนักเขียนที่มีผลงานโดดเด่นมาแล้ว จึงเป็นตัวเลือกแรกของสำนักพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์ก็เปิดโอกาสให้แก่นักเขียนหน้าใหม่เสมอถ้าผลงานเรื่องนั้นมีความน่าสนใจ นิยายขายดีหลายเล่มของสำนักพิมพ์ก็เป็นผลงานเล่มแรกในชีวิตของนักเขียนหน้าใหม่ครับ

มองว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยไปหรือเปล่า ในความคิดเห็นของสนพ. ตรงส่วนนี้เราจะช่วยกันกระตุ้นการอ่านอย่างไรดี
คนไทยอ่านหนังสือไม่น้อย แต่อาจจะซื้อหนังสือน้อยครับ งบประมาณที่จัดสรรให้แก่การซื้อหนังสือจะอยู่ในอันดับท้ายๆ ถ้าคนคนนั้นไม่ใช่นักอ่านในระดับ ‘หนอนหนังสือ’ เรื่องการกระตุ้นการอ่านนั้น ผมคิดว่าถ้ามีหนังสือที่ดี มีหนังสือที่ดึงดูด จะกระตุ้นให้เกิดการอ่านที่มากขึ้น กว้างขวางขึ้นโดยอัตโนมัติครับ

เรื่องการอ่านนี้ ยังฝากความหวังไว้กับครอบครัวและโรงเรียนครับ และอยากเห็นเยาวชนไทยมีพัฒนาการความสามารถในเรื่อง ‘การเขียน’ และ ‘การอ่าน’ ควบคู่กันไป



ในวันที่ภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง วันนี้สำนักพิมพ์วางแผนการดำเนินงานอย่างไรบ้าง
ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์ทำงานแบบคุณภาพนำการตลาดครับ ถ้าพบต้นฉบับดีๆ นักเขียนฝีมือดีๆ ก็อยากจะสนับสนุนให้มีผลงานของนักเขียนเหล่านั้นเป็นที่ปรากฏ โดยไม่คำนึงถึงผลกำไรทางธุรกิจนัก แต่ในสภาพเศรษฐกิจที่ตลาดหนังสือชะลอตัว สำนักพิมพ์ต้องโฟกัสกับการคัดเลือกต้นฉบับมากขึ้น แนวเรื่องไหน นามปากกาไหนที่มีประวัติว่ายอดขายไปไม่ถึงจุดคุ้มทุน คงต้องขอชะลอไว้ก่อนครับ


ปัจจุบันนักเขียนอยากให้ผลงานตนเองเป็นละคร ในแง่มุมของสนพ.มองเรื่องนี้อย่างไร
สำนักพิมพ์ไม่มีนโยบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เพราะมุ่งพิมพ์หนังสือเพื่อการอ่านเป็นเป้าหมายหลัก แต่หากนักเขียนจะวางโครงเรื่อง เส้นเรื่อง ให้เอื้อต่อการนำไปสร้างเป็นละคร ก็ถือเป็นการทำงานเฉพาะตัวของนักเขียนครับ สำนักพิมพ์พิจารณาแต่ว่า ถ้าเป็นนิยายที่อ่านสนุก มีคุณค่าในทางใดทางหนึ่ง เราก็รับมาตีพิมพ์ครับ ส่วนในภายหลังถ้านิยายได้ทำเป็นละคร ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้


ทัศนคติของสนพ.ในเรื่องการประกวดผลงาน จะมีการแข่งขันไหม หรือจะส่งผลงานในสนพ.เพื่อการประกวดในสนามใหญ่ๆ หรือไม่ หากมี จะแนะนำนักเขียนอย่างไร สนามไหนที่ควรลงนักเขียนต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
สำนักพิมพ์เคยจัดประกวดพล็อตอยู่ครั้งหนึ่งครับ คือซีรีส์ ‘บ้านน้อยซอยเดียวกัน’ ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างสีสันในหมู่นักเขียน และทำให้สำนักพิมพ์ได้ต้นฉบับมาตีพิมพ์จำนวนหนึ่ง ส่วนการส่งผลงานในค่ายไปประกวดในสนามใหญ่ๆ คงไม่ได้ส่ง เพราะรางวัลเหล่านั้นเน้นนิยายแนวสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่แนวของสำนักพิมพ์ครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages