จับเข่าคุย - Tiara จากนักอ่านสู่นักเขียนมืออาชีพ - WriteNow Mag(old)

Pinterest

test banner

Post Top Ad

Responsive Ads Here

จับเข่าคุย - Tiara จากนักอ่านสู่นักเขียนมืออาชีพ

Share This

“มากกว่ารัก” 3 คำง่ายๆ แต่มากความหมาย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของนักเขียนสายอาชีพของ สนพ.แจ่มใส แม้ว่าเธอคนนี้จะมีจุดเริ่มต้นจาก “มากกว่ารัก” แต่ที่ทำให้เป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมคือ “มากกว่าการอ่านคือจินตนาการไม่รู้จบ” หากคุณเป็นเหมือน tiara หลังจากปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือในมือ จินตนาการกระโดดโลดเต้นไม่หยุด ลองมาศึกษาเส้นทางงานเขียนของคุณแหม่ม รัดเกล้า มีมารยาตร์ เจ้าของนามปากกา tiara ซึ่งสิ่งที่เธอบอกอาจเป็นมากกว่าแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เราก้าวสู่นักเขียนมืออาชีพด้วยเช่นกัน

อะไรเป็นแรงบันดาลใจจนอยากมาเป็นนักเขียนคะ ทำไมถึงเลือกเขียนนวนิยาย
“จริงๆ แล้วไม่เคยมีความคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นนักเขียนเลยค่ะ แต่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกประเภทตั้งแต่เด็ก เมื่อเราอ่านเยอะเข้า ความรู้สึกที่อยากจะถ่ายทอดความคิดของตัวเองลงไปในงานเขียนก็เลยตามมา โดยเริ่มจากการเขียน blog เมื่อสิบสองปีก่อนผ่าน http://tiara.bloggang.com แต่ตอนนั้นไม่ได้เขียนนิยายนะคะ เราทำ blog เกี่ยวกับการทำขนมอบและเล่าเรื่องลูก และการเขียนนวนิยายก็มาจากประสบการณ์การอ่านเหมือนกันค่ะ”

เขียนครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง จำความรู้สึกและประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องแรกได้ไหมคะ
“เขียนครั้งแรกไม่มีความกดดันใดๆ เลยค่ะ เขียนด้วยความสนุกและอยากเล่าเรื่องราวแบบขำๆ แต่ปรากฏว่ามันออกมาดี “กราฟหัวใจ...อุ่นละไมไอรัก” เป็นนิยายเรื่องแรกที่เขียนลงคอลัมน์แบ่งกันอ่านใน www.jamsai.com หลังจากเขียนจบก็ลองส่งต้นฉบับทั้งหมดไปให้กองบรรณาธิการพิจารณา จากนั้นประมาณสามเดือนสำนักพิมพ์ก็แจ้งกลับมาว่าจะพิมพ์นิยายเรื่องนี้ค่ะ นับว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่ได้มาไม่ยากนัก จำได้ว่าตอนนั้นดีใจมาก เอาเข้าจริงการเขียนเล่มที่สองยากกว่าค่ะ มันมีความกดดันเพิ่มขึ้นมาว่าต้องทำให้ดีขึ้น”

เราจำเป็นต้องอ่านหนังสือเพิ่มไหมคะ อ่านแล้วจะมีผลต่อต้นฉบับของเราไหม และโดยส่วนตัวนักเขียนอ่านหนังสือแนวไหนบ้าง ทำไมถึงอ่านแนวนี้คะ
“ต้องบอกว่าการอ่านมันเป็นเรื่องธรรมชาติของเราไปแล้ว ถึงไม่ได้เขียนหนังสือก็ต้องอ่านค่ะ ขาดไม่ได้เลย ทุกอย่างที่อ่านมันจะอยู่ในสมองของเรา รอว่าเมื่อไรที่เราจะพร้อมดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ ถ้าถามว่ามีผลต่อต้นฉบับไหม มีแน่นอนค่ะ ยกตัวอย่างตัวเองที่เปลี่ยนรสนิยมการอ่านไปตามวัย ช่วงสิบปีแรกเป็นหนังสือนิทาน ช่วงสิบถึงยี่สิบปีส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนกับนิยาย ช่วงอายุยี่สิบถึงสามสิบเป็นนิยายแปลและนิตยสารที่สนใจ และช่วงสามสิบถึงปัจจุบันจะเน้นหนังสือจิตวิทยาความสัมพันธ์ สารคดีเป็นหลัก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นขุมทรัพย์ เป็นสิ่งที่สร้างความคิดของเราขึ้นมาค่ะ ต้นฉบับของตัวเองก็จะมีเรื่องของจิตวิทยาสอดแทรกด้วยโดยเฉพาะนิยายสืบสวนสอบสวน”

เวลาคิดพลอต ได้แรงบันดาลใจจากอะไรเป็นสำคัญคะ
“ชีวิตประจำวัน ผู้คนที่พบเจอ บางทีก็เป็นเรื่องสภาพอากาศค่ะ จำได้ว่าเรื่อง “How to Love…ผูกใจรัก” เป็นนิยายที่เขียนในฤดูฝน ซึ่งตัวเองไม่ชอบความชื้นในฤดูนี้เท่าไร พระนางของเรื่องนี้ก็เลยบ่นเรื่องฝนตกตามไปด้วย”

ลงมือเขียนนิยาย เริ่มจากตรงไหน ขอวิธีการวางรูปแบบการทำงานค่ะ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและไกด์ไลน์ให้กับนักเขียนหน้าใหม่
“เริ่มแรกต้องรู้ก่อนว่าตัวเองอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไรค่ะ จากนั้นก็ปล่อยให้ความคิดมันฟุ้งไปหลายๆ ทาง เขียนทุกอย่างลงไปในกระดาษ แล้วค่อยๆ ควบรวมความคิดเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ปกติแล้วจะคิดไว้เลยว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร มีจุดจบของเรื่องยังไง แล้วจึงจะเริ่มเขียน ดังนั้นจึงเป็นคนที่ใช้เวลากับการวางโครงเรื่องนานกว่าจะเริ่มเขียนได้ และบางทีในระหว่างเขียนอาจมีความคิดหรือข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาทำให้แผนเดิมมันเปลี่ยนไป เราก็เปิดรับความคิดเหล่านั้นและต้องพยายามปรับปรุงแผนเดิมที่วางไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ในนิยายสืบสวนหากไม่ทำอย่างนี้อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า ‘จบไม่ลง’ ได้”

เวลาที่ส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ แล้วทางบรรณาธิการติงเรื่องเนื้อหามา หรือมีการซักถามปรับพลอต โต้แย้งหรือทะเลาะกันบ้างไหม
“ไม่เคยทะเลาะค่ะ แต่ต้องมีการชี้แจงความคิดของเราให้ชัดเจน จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะหาข้อสรุปร่วมกัน การเป็นนักเขียนที่ดีข้อหนึ่งคือ ต้องสามารถรับฟังคำวิจารณ์ให้ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะกลายเป็นหายนะทางอาชีพได้เลย เราต้องคำนึงถึงผลงานที่จะออกไปสู่สาธารณชนว่าเมื่อมันพ้นมือของเราไปแล้ว เราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก เพราะฉะนั้นกองบรรณาธิการจะเป็นด่านแรกที่จะสะท้อนความคิดของนักอ่านมาสู่เราค่ะ การรับฟังจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหากับกอง อาจจะเป็นเพราะพี่อายุมากกว่าน้องๆ เราก็จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่พี่จะเคารพในความคิดของน้องๆ เสมอ เพราะพี่ถือว่าเขาเป็นมืออาชีพในวิชาชีพของเขา เราก็ต้องทำตัวเป็นมืออาชีพในหน้าที่ของเราเช่นกันค่ะ”

มีงานแนวไหนที่อยากเขียนแล้วยังไม่ได้เขียนบ้างคะ
“เรื่องความรักที่มาพร้อมกับปาฏิหาริย์ค่ะ อาจจะต้องรออีกสักห้าปี อยากให้ความรู้สึกเป็นตัวบอกเราเองว่าเขียนได้แล้วนะ ตอนนี้ยังติดกับแนวสืบสวนสอบสวนอยู่”

ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง ในทัศนคติของนักเขียน เราควรปรับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
“เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ถ้ามองในมุมกว้างนักเขียนตัวเล็กๆ คงไม่สามารถทำอะไรให้เกิดแรงกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศได้ โดยเฉพาะตลาดของหนังสือที่ประเทศของเราไม่ได้มีนโยบายชัดเจนเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรักการอ่านอย่างจริงจัง ดังนั้นขอตอบในมุมเล็กๆ จากตัวเองว่าก็ต้องเขียนต่อไปค่ะ เขียนเพื่อให้ความหวังแก่นักอ่านว่ายังมีเรื่องราวดีๆ ในหนังสือเล่มเล็กๆ ที่คุณกำลังถืออยู่ บางเรื่องมันอาจจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้อ่านได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขขึ้นในแต่ละวัน”


มีมาตรการจัดการกับนักก๊อปผลงานอย่างไรบ้าง
“เราเป็นนักเขียนมีสังกัด ก็มอบหมายให้สำนักพิมพ์ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไปค่ะ”


จากนักอ่านสู่นักอยากเขียน จากนักอยากเขียนสู่นักเขียนมืออาชีพ จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เกิดจากความหลงใหลในการอ่าน และหากใครรักชอบผลงานผ่านปลายปากกาของ tiara อยากติดตามความเคลื่อนไหวแวดวงข่าวสารหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพาตัวเองสู่นักเขียนมืออาชีพ เชิญได้ที่เพจ https://www.facebook.com/bytiarajamsai เพราะผลงานของเธอนั้นมากกว่ารักในตัวหนังสือ แต่มีอารมณ์แห่งความปรารถนาที่อยากเขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages