จับเข่าคุย - นักเขียนตัวเล็กแต่มากฝีมือ...ดวงตะวัน - WriteNow Mag(old)

Pinterest

test banner

Post Top Ad

Responsive Ads Here

จับเข่าคุย - นักเขียนตัวเล็กแต่มากฝีมือ...ดวงตะวัน

Share This
เคยได้ยินคำพูดที่ว่า... "นักเขียนแต่ละคน มีรูปแบบ มีแนวทาง มีภาษาของตนเอง อย่างที่เรียกกันว่า มีสไตล์ของตน" หรือเปล่าคะ... นักเขียนที่เราขอสัมภาษณ์เพื่อประเดิมคอลัมน์ "จับเข่าคุย" ในวันนี้...ก็เป็นหนึ่งในนั้น นั่นก็คือ... ดวงตะวัน หรือ คุณขวัญใจ เอมใจ นักเขียนมากฝีมือที่วันนี้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ดวงตะวันนั่นเอง



ก่อนมาเป็นนักเขียน เคยทำงานอะไรมาก่อน แล้วอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นเขียนหนังสือ จนถึงเวลานี้มีผลงานมาแล้วกี่เรื่อง
ก่อนมาเป็นนักเขียนนิยาย    เคยเป็นนักเขียนสารคดีมาก่อนค่ะ ทำงานประจำที่กองบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" อยู่สิบปี  ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกว่าเพราะการทำงานสารคดีด้วยแหละค่ะที่ทำให้มีวัตถุดิบมากมายมาเขียนนิยาย  การได้ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ   บางทีมันก็มีบางฉาก บางเรื่องราวของบางคนที่เราได้รู้ได้เห็นแล้วกระทบใจ ไม่ลืม หรือว่าบางสถานที่ที่ประทับใจ คนบางคนที่บุคลิกน่าสนใจ เรื่องราวของเขา ความคิดของเขา  อะไรแบบนี้แหละค่ะที่ได้จากการทำงานสารคดี  แล้วเอามาคิดต่อ  จินตนาการต่อ  


แต่ถ้าถามถึงงานเขียนยุคแรกจริงๆ  ดิฉันเริ่มจากเรื่องสั้นค่ะ  สมัยเรียนธรรมศาสตร์ เคยเขียนเรื่องสั้นส่งสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ , บานไม่รู้โรย , มติชนสุดสัปดาห์  ฯลฯ
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนประเภทไหน  เรื่องสั้น สารคดี หรือนิยาย  สำหรับตัวเอง คิดว่าจุดเริ่มต้นในการเขียน  ที่ทำให้อยากเขียน  มาจากการอ่านค่ะ  

นับถึงปัจจุบัน มีงานเขียนนิยายทั้งหมด 60 เรื่อง   งานสารคดี 1 เรื่อง และวรรณกรรมเยาวชน 2 เรื่องค่ะ


เขียนนิยายครั้งแรกเริ่มจากตรงไหน แล้วต้องแก้ไขตรงไหนเป็นพิเศษ เคยท้อไหมกับการเริ่มต้น
นิยายเรื่องแรกคือ "ภูแสนดาว" เขียนหลังจากเดินทางไปทำสารคดีที่ประเทศเวียดนามเป็นเวลา 1 เดือนค่ะ  พอกลับมาเขียนสารคดียาวเกือบยี่สิบหน้ากระดาษ  แต่เขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่า "ของ" ในตัวยังไม่หมด ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่อยากเขียน  ก็เลยออกมาเป็นนิยายเรื่อง "ภูแสนดาว"  ความยาว 67 ตอน เขียนรวดเดียวจบทั้งเรื่อง   เป็นการเขียนโดยไม่เคยเรียน และไม่รู้ด้วยซ้ำค่ะว่า เขาเขียนนิยายกันอย่างไร

พอเขียนจบส่งไปที่นิตยสาร "สกุลไทย" ซึ่งสมัยนั้น  คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ เป็นบรรณาธิการ  ใช้เวลา 1 ปีถึงทราบว่าเรื่องผ่านการพิจารณาแล้ว  แต่ต้องรอคิวลงอยู่ถึง 3-4  ปีกว่านิยายเรื่องแรกจะได้ตีพิมพ์ใน "สกุลไทย"  ที่ถามว่าท้อไหมกับการเริ่มต้น  ตอบได้เลยว่าตอนเขียน ไม่ท้อค่ะ  เพราะไม่ได้คิดหวังอะไร  คิดแต่ว่าอยากเขียน มีเรื่องอยากเล่าอยากเขียน ก็ลงมือเขียน เท่านั้นเอง  แต่ตอนรอคำตอบว่าจะผ่านหรือไม่ และจะได้ลงตีพิมพ์เมื่อไร  ก็มีท้อบ้างนิดหน่อยค่ะ  แต่โชคดีว่าตอนนั้นยังทำงานอยู่ที่สารคดี    มีงานประจำให้คิดให้ทำ  เลยไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไรนัก  ขณะเดียวกันก็ลงมือเขียนนิยายเรื่องที่สอง คือ "แก้วรัดเกล้า" ไปด้วยค่ะ



จำความรู้สึกของนิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ได้หรือเปล่า
จำได้ว่า พอทราบกำหนดแน่นอนว่า "ภูแสนดาว" จะลงตอนแรกในสกุลไทยฉบับไหน  ก็เฝ้ารอด้วยความตื่นเต้นมาก สกุลไทยออกทุกวันอังคารค่ะ   พอถึงฉบับที่เรื่องของเราจะได้ลง รีบออกไปซื้อที่ร้านหน้าปากซอยบ้าน ซื้อมาตั้งหลายเล่ม จนคนขายถามว่า  ฉบับนี้เขามีชิงโชคอะไรหรือเปล่า

         
ปลุกแรงบันดาลใจในการคิดพล็อต เขียนนิยายแต่ละเล่มอย่างไร ด้วยวิธีการ ขอคำแนะนำอย่างละเอียด เพื่อให้นักเขียนรุ่นใหม่ หรือนักอ่านได้มองเรื่องราวและนำคำตอบไปปรับใช้เป็นตัวอย่าง
ถ้าถามว่าคิดพลอตอย่างไร สำหรับตัวดิฉัน มันเริ่มจากมีความคิดบางอย่างที่เราอยากจะเล่าก่อนเป็นอย่างแรก   เช่นตอนเขียน "ภูแสนดาว" เขียนเพราะมีความคิดว่าอยากเล่าเรื่องราวชีวิตของลูกครึ่งอเมริกัน-เวียดนาม ที่เป็นผลพวงจากสงครามเวียดนาม  เขาเคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่านะว่า เขาเป็นใคร เป็นอเมริกัน หรือว่าเป็นเวียดนาม

นิยายเรื่อง "เรือนดอกรัก"  ซึ่งเป็นนิยายรักโรแมนติคคอมเมอดี้ที่ตั้งคำถามกับความเป็นไทยอย่างแสบๆคันๆ    จุดเริ่มต้นของมันมาจากโฆษณาชิ้นหนึ่งที่คุณแอ๊ด คาราบาว ถามว่า "คนไทยหรือเปล่า ?"   ครั้งแรกที่ได้ยินคำพูดประโยคนั้น ดิฉันถามตัวเองต่อทันทีว่า แบบไหนล่ะที่เรียกว่า "คนไทย" ?  จากคำถามนั้นเองก็พัฒนาต่อมาเป็นพลอต

หรืออย่างซีรีส์ล่าสุดที่กำลังเขียน คือซีรีส์ราชสีห์  มันก็เริ่มจากความคิดที่ว่า เราควรทำใจยอมรับหรือว่า โลกมันก็เป็นแบบนี้ คนมีอำนาจได้ทุกสิ่งทุกอย่างไปโดยที่ไม่ต้องมีการตั้งคำถามหรือตรวจสอบ  ทำอะไรไม่ได้  ก็ได้แต่ปล่อยกันไป อย่างนั้นหรือ

นิยายทุกเรื่องเริ่มจาก "ความคิด" ก่อนเสมอค่ะ  จากนั้นถึงจะคิดต่อ ว่าจะวางพลอตอย่างไรเพื่อให้พลอตนั้นรับใช้แก่นความคิดของเรา  ได้พลอตแล้วถึงสร้างตัวละครเข้ามา

เวลาเขียนนิยาย ดิฉันยังคงใช้หลักการเดียวกับสมัยที่ทำงานสารคดี  คือการถามตัวเองเสมอว่า ประเด็นคืออะไร ถ้าเราตอบได้  ก็จะทำให้ไม่หลงทางในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนพลอต สร้างตัวละคร หรือแม้แต่การลงพื้นที่เก็บข้อมูล

ถ้าหากในระหว่างการเขียน รู้สึกว่าตัวเองเริ่มจะสะเปะสะปะ พลอตหลุดพลอตแตก  เส้นเรื่องเริ่มจะไม่คม   ก็จะดึงตัวเองกลับมาที่ความคิดแรกเริ่มเสมอ ด้วยการถามตัวเองว่าเรากำลังจะเล่าเรื่องอะไร  

 
เวลาพล็อตซ้ำเราทำอย่างไร แก้ตรงไหน จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดคำครหาว่าก๊อปพล็อต

พลอตซ้ำเกิดขึ้นได้เสมอแหละค่ะ  อย่างที่มีคนชอบพูดกันว่า  โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว   แต่ดิฉันเชื่อว่ารายละเอียดของเหตุการณ์ในเรื่อง บุคลิกของตัวละคร บทสนทนา จะแตกต่างอย่างแน่อน  เหมือนแม่ครัวที่ปรุงแกงส้ม ใครๆ ก็ทำแกงส้มได้ แต่รสมือของแม่ครัวแต่ละคน เทคนิคการปรุง แม้แต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ ย่อมส่งผลให้แกงส้มของแม่ครัวแต่ละคนแตกต่างกัน  
อาจมีนักเขียนมากมายเขียนนิยายที่ตั้งคำถามกับความเป็นไทย  แต่รายละเอียดข้างในเรื่อง ตัวละคร การขับเคลื่อนของเหตุการณ์ต่างๆ  ไม่น่าจะซ้ำกันแบบเป๊ะๆ ฉากต่อฉาก หรือประโยคต่อประโยค

ถ้าเราไม่ได้ลอก ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องคำครหา  ตัวงานจะเป็นเครื่องยืนยันเองว่า เราไม่ได้ลอก

การถ้อยทีถ้อยอาศัยของนักเขียนกับกองบรรณาธิการ ต้องวางตัวอย่างไร มีปัญหาหรือไม่อย่างไร หากมีเราจะจัดการปัญหาในใจเราในส่วนของนักเขียนอย่างไร การคุยกับบรรณาธิการเรื่องการแก้ต้นฉบับเพื่อไม่ให้มีความบาดหมางต้องปฏิบัติอย่างไร

ดิฉันโชคดีที่ได้ทีมงาน ทั้งบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร และคนจัดอาร์ตเวิร์ก เป็นคนหน้าเดิม ทีมเก่า ที่ร่วมงานกันมานานนับตั้งแต่เริ่มเขียนนิยายก็ว่าได้กระมัง  ทำให้ทีมงานพอจะทราบบุคลิก สไตล์การเขียน และวิธีการทำงานของดิฉันเป็นอย่างดี รู้ว่า จุดไหนที่ดิฉันจะพลาดอยู่บ่อยๆ  และจะช่วยตะครุบจับผิดให้เสมอ  รู้ว่าจุดไหนที่เป็นตัวตนของดิฉัน เป็นถ้อยคำ และรูปประโยคแบบที่ดิฉันชอบใช้   ก็จะยอมปล่อยๆไป  แม้ว่าบางทีอาจจะขัดหูขัดตาไปบ้างก็ตาม

แต่ทั้งนี้ ต้นฉบับนี่ ยังไงซะ ความรับผิดชอบเบื้องต้นเลยต้องเป็นของนักเขียนค่ะ นักเขียนต้องรับผิดชอบต่อต้นฉบับของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งในแง่ของพลอต ตัวละคร หรือการใช้ภาษา การเลือกใช้คำบางคำ ทำการบ้านให้ละเอียด ขัดเกลาให้เนี้ยบและเนียน ก่อนส่งงานให้บรรณาธิการ

ต้องตอบได้ว่า ทำไมพลอตถึงเป็นแบบนั้น ทำไมตัวละครจึงมีพฤติกรรมแบบนั้น หรือแม้แต่ทำไมจึงเลือกใช้คำคำนั้น ไม่เลือกใช้อีกคำ ทุกบททุกตอนที่เขียน ตัวเรื่องต้องเคลื่อนขยับเสมอ ไม่ใช่เล่าซ้ำอยู่นั่นแล้วว่าตัวละครมีความทุกข์ตรมอย่างไร  ถ้าดิฉันเป็นบอกอ เจอแบบนั้นสักสามตอน ก็คงขอตัดออกเหมือนกัน

คิดว่าถ้านักเขียนชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองเขียน จะสามารถตอบข้อสงสัยของกองบรรณาธิการได้  แต่เรื่องนี้บางทีก็ต้องหยุดคิดนึดนึงถึงสิ่งที่บอกอและทีมงานท้วงติงมา  ดิฉันเคยเจอเหมือนกันว่า เราเชื่อว่าคำที่เลือกใช้มันชัดเจนตรงความหมายที่ต้องการที่สุดแล้ว แต่บรรณาธิการเสนออีกคำหนึ่งมา  ปรากฏว่าพอใส่แทนเข้าไป มันชัดกว่า ได้ความหมายดีกว่า  แบบนี้ก็ต้องเชื่อบรรณาธิการแหละค่ะ   



นักเขียนต้องมีแฟนคลับไหม เราต้องปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ชื่นชอบผลงานของเรา ถ้าไม่มีจะได้ไหม การวางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นนักเขียนมืออาชีพต้องทำอย่างไร (ดราม่านักเขียน นักอ่านมีเรื่อยๆ อยากได้คำแนะนำจากพี่ในเรื่องนี้ เพราะไม่อยากเห็นนักอ่านเป็นกันชนหรือลูกหาบให้นักเขียนอีก)
เป็นคำถามที่ไม่เคยถามตัวเองเลย  เพราะคิดเสมอว่า  เราเป็นนักเขียน สิ่งที่นักเขียนขาย คือ "ตัวงาน" ไม่ใช่ "ตัวตน" ของเรา   ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อเสนอขายตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้คนอ่านชอบ  ถ้าคนอ่านจะชอบจะรักและติดตามเรา ก็ขอให้ติดตามที่ "ตัวงาน" ดีกว่า



ความรื่นรมย์ในการทำอาชีพนี้ 
ถ้าเรารักเราชอบอะไรสักอย่าง การได้ทำสิ่งนั้นมันคือความรื่นรมย์เสมอค่ะ  ดิฉันชอบเขียนหนังสือ  รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก เลยไม่เคยรู้สึกว่าต้องทำงาน  ไม่เคยรู้สึกว่าไม่มีเวลาเขียนนิยาย

มีคนเคยบอกว่า  ถ้าเรารักเราชอบอะไร เราจะจัดเวลาให้มันได้เสมอ ไม่มีคำว่า "ไม่มีเวลา"  อย่างดิฉัน  ชีวิตนี้ชอบอยู่สองอย่าง คือเขียนนิยาย กับการออกกำลังกาย  ก็จะมีเวลาให้สองเรื่องนี้เสมอ  

ดิฉันเป็นนักเขียนอิสระ และทำสำนักพิมพ์ของตัวเองด้วย  แต่ชอบทำงานเหมือนคนทำงานประจำ  เช้ามา เคลียร์งานบริหารจัดการต่างๆของสำนักพิมพ์ให้เสร็จก่อน  แล้วถึงลงมือเขียนนิยายถึงราวๆบ่ายสาม แล้วไปออกกำลังกาย  กลางคืน ก่อนนอน เขียนอีกนิดหน่อย 

ยังไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์กับการเขียนนิยายเลย  ยังไม่เคยรู้สึกว่าตื่นมาตอนเช้า แล้วไม่รู้จะเขียนอะไร ยังไม่มีค่ะ หรือแม้แต่ตื่นมาแล้ว...โอย...เกลียดเช้าวันจันทร์ นี่ก็ยังไม่เกิด  ถ้าจะมีอะไรเบื่อๆบ้างก็พวกงานบริหารจัดการต่างๆ แต่ก็อย่างที่บอก พอเช้ามา ก็จะรีบเคลียร์ให้เสร็จๆไป  จะได้เขียนนิยาย

ยังมีอะไรอีกมากมายที่คิดได้และอยากเขียน  


จะเป็นนักเขียนมืออาชีพ ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้างแล้วนักเขียนสามารถเลี้ยงชีพให้ดำเนินไปได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องวางแผนอย่างไร
ก็คงไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ นะคะ  คือวางแผนให้ดี พัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ อย่าเล็งผลเลิศจนเกินไปนัก  เพราะบางทีมันก็มีปัจจัยมากมายที่ทำให้งานเราขายไม่ได้   สองสามปีหลังมานี้ ดิฉันเปิดอีกบริษัททำจัดจำหน่ายเองด้วย ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องงานขายว่ามันมีปัจจัยมากมายนะคะที่ทำให้งานขายได้หรือไม่ได้

แต่ถ้าพูดในฐานะนักเขียน สิ่งที่เราทำได้ และทำได้ดีที่สุด ก็คงเป็นการรับผิดชอบงานเขียนของเราให้ดีที่สุด สนุก ถึงเครื่องครบรส  

ที่สำคัญเลย ต้องมีผลงานสม่ำเสมอ ถึงจะอยู่ได้ค่ะ


อยากฝากข้อคิดอะไรให้นักเขียนและนักอยากเขียนไว้เป็นข้อเตือนใจ เพื่อให้ก้าวสู่อาชีพนี้อย่างมีคุณภาพต่อวงการนี้
ลงมือเขียนเลยค่ะ




ท้ายสุดนี้หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะให้แง่คิดและกำลังใจในการทำงานสำหรับนักเขียนและนักอยากเขียนทุกคนนะคะ สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตได้เด่นชัดนั่นก็คือ วินัยในการทำงาน มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้...มาจากการทำงานอย่างตั้งใจจริง ขอให้เราตั้งใจจริงเถอะ...ความสำเร็จในการเป็นนักเขียนก็อยู่ไม่ไกล ที่สำคัญ...ก็อย่างที่คุณดวงตะวันฝากไว้เป็นประโยคสุดท้าย คือ...ลงมือเขียนค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages